น้ำมันเครื่อง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ให้การหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ ช่วยปกป้องและดูแลรักษาให้สามารถใช้งานยาวนานขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้เครื่องยนต์ของคุณทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันแบรนด์น้ำมันเครื่องชั้นนำ ต่างก็พากันคิดค้น และพัฒนาสูตรเด็ดต่างๆ ที่สามารถดูแลเติมเต็มสมรรถนะของเครื่องยนต์กันอย่างไม่หยุดยั้งซึ่งในวันนี้ทาง ว.ศิริกาญออโตพาร์ท มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของน้ำมันเครื่อง และการเลือกใช้น้ำมันเครื่องมาฝากกัน
ประโยชน์ของน้ำมันเครื่อง
ช่วยหล่อลื่นเครื่องยนต์ อันนี้เป็นประโชยน์หลักของน้ำมันเครื่องเลยก็ว่าได้ โดยน้ำมันเครื่องจะไปสร้างชั้นฟิลม์บางๆเคลือบชิ้นส่วนโลหะภายในเครื่องยนต์เพื่อลดการเสียดสีกันในการทำงานของเครื่องยนต์
ช่วยลดความร้อนของเครื่องยนต์ โดยเมื่อน้ำมันเครื่องไหลกลับลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องก็จะนำพาความร้อนที่สะสมอยู่ภายในเครื่องยนต์ลงไปด้วย ซึ่งสามารถช่วยลดความร้อนเครื่องยนต์ได้ในระดับนึง
ช่วยป้องกันการรั่วของกำลังอัด โดยตัวน้ำมันเครื่องนั้นจะเป็นแผ่นฟิลม์ที่เคลือบผนังของกระบอกสูบทำให้สามารถป้องกันการรั่วไหลของกำลังอัดที่กระบอกสูบได้
ทำหน้าที่ทำความสะอาด ซึ่งตัวน้ำมันเครื่องนั้นจะชะล้างเศษโลหะที่เกิดจากการเสียดสีกันภายในเครื่องยนต์และนำลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องเพื่อป้องกันการอุดตัน
ซึ่งจากประโยชน์ที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าตัวน้ำมันเครื่องนั้นมีความสำคัญกับเครื่องยนต์อย่างมาก ดังนั้นในการเลือกน้ำมันเครื่องเราต้องดูที่ 3 ส่วนหลักๆนั้นก็คือ
ประเภทของน้ำมันเครื่อง โดยน้ำมันเครื่องนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
น้ำมันเครื่องชนิดธรรมดา จะมีระยะเวลาการใช้งานประมาณ 4000 กิโลเมตร
น้ำมันเครื่องชนิดกึ่งสังเคราะห์ จะมีระยะการใช้งานประมาณ 6000 กิโลเมตร
น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % จะมีระยะการใช้งานประมาณ 10000 กิโลเมตร
ความหนืดของน้ำมันเครื่อง
โดยค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องนั้นจะถูกทดสอบโดยสถาบัน สมาคมวิศวกรรมยานยนต์หรือ SAE (SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS) โดยค่าความหนืดนั้นจะเป็นตัวเลข 5,10,15,30,40,50 ดังตัวอย่างเช่น
5W : หมายถึง ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องในอุณหภูมิที่ติดลบหรืออุณหภูมิที่เย็นจัด ซึ่งน้ำมันเครื่องตัวนี้มีค่าความหนืดอยู่ในเกรดที่ 5
40 : หมายถึง ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องในอุณหภูมิ 100 องศา ซึ่งน้ำมันเครื่องตัวนี้มีค่าความหนืดอยู่ในเกรดที่ 40
โดยตัวเลขที่แบ่งเกรดค่าความหนืดนั้น ถ้าตัวเลขยิ่งมาก ก็แสดงว่าค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องตัวนั้นยิ่งสูงตามไปด้วยนั่นเอง ซึ่งในประเทศไทยการเลือกค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องควรดูเฉพาะค่าหลังเป็นสำคัญ เพราะประเทศไทยไม่มีอากาศที่หนาวเย็นถึงขนาดติดลบจึงไม่จำเป็นต้องกังวลตัวเลขด้านหน้าเท่าใดนัก
ซึ่งปกติแล้วการเลือกน้ำมันเครื่องของรถแต่ละคันนั้นให้อิงตามคู่มือที่ติดมากับตัวรถโดยค่าปกตินั้นจะอยู่ที่ 40 ในค่าความหนืดตัวหลัง แต่ถ้าเกิดเมื่อใช้รถยนต์หนักและเครื่องยนต์มีอายุมากและกินน้ำมันเครื่อง ควรมีการปรับเบอร์ขึ้นไปเป็นเบอร์ 50 เพื่อป้องกันการรั่วของกำลังอัด แต่ถ้ารถยนต์อยู่ในสภาพปกติและอากาศไม่ร้อนมาก ควรเลือกน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดน้อยๆเพื่อที่ตัวน้ำมันเครื่องจะได้สามารถไหลผ่านไปได้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดน้อยเกินไป ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ไม่มีฟิลม์ไปเคลือบชิ้นส่วนโลหะภายใน ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควรนั่นเอง
ตัวเลขบนฉลากนั้น…บอกอะไรเราบ้าง ?
ตัวเลขบอกค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง
ความหนืดของน้ำมันเครื่อง (Viscosity Grade) มีส่วนสำคัญในการป้องกันการสึกหรอของชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ หากน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดน้อยเกินไป จะไม่สามารถคงสภาพเป็นฟิล์มบางๆ แทรกระหว่างผิวของโลหะ หรือถ้ามีความหนืดมากไป ก็ไม่สามารถถูกปั๊มไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์หรือ SAE (Society of Automotive Engoneers) ได้วางมาตรฐานและแบ่งน้ำมันเครื่องออกเป็น 2 ประเภท
น้ำมันเครื่องเกรดเดียว (Monograde) โดย SAE ได้วางมาตรฐานโดยแบ่งตามค่าความข้นใส ได้แก่ SAE 0W, 5W, 10W, 15W, 20W, 25W (อักษร W : Winter) สำหรับใช้ในเขตหนาว และ SAE 20, 30, 40, 50 และ 60 สำหรับใช้ในเขตร้อน ตัวเลขที่มากยิ่งข้นมาก
น้ำมันเครื่องเกรดรวม (Multigrade) เป็นการพัฒนาให้น้ำมันเครื่องทำงานได้ทั้งในสภาพอากาศร้อนและเย็น มีค่าดัชนีความหนืดสูง ช่วยให้ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดีกว่าน้ำมันเครื่องเกรดเดียว เช่น SAE 5W-40, 10W-30, 20W-50 เป็นต้น
เกรดของน้ำมันเครื่อง
-การแบ่งเกรดของน้ำมันเครื่องที่นิยมแพร่หลายนั้น ได้แก่ มาตรฐาน API โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา (American Petroleum Institute) ได้กำหนดมาตรฐานโดยแบ่งตามประเภทของเครื่องยนต์ดังนี้
-เกรดน้ำมันเครื่องสำหรับสำหรับน้ำมันเบนซิน จะใช้ตัวอักษร S (Station Service) นำหน้า เรียงตามลำดับได้แก่ API SA, SB, SC ,…. และสูงสุดในปัจจุบันคือ SN
-เกรดน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จะใช้ตัวอักษร C (Commercial Service) นำหน้า เรียงตามลำดับ ได้แก่ API CA, CB, CC, CD, CD-II, CE, CF-4, CF, CF-2, CG-4, CI-4 PLUS และสูงสุดในปัจจุบันคือ CJ-4
-น้ำมันเครื่องที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีการระบุ API ที่มีอักษร S และ C อยู่ด้วยกัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เช่น API SF/CF, CG-4/SG เป็นต้น ซึ่งการนำไปใช้จะเหมาะสมกับเครื่องยนต์ประเภทใดมากกว่ากัน ให้สังเกตจากชั้นคุณภาพ API นั้น ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร S หรือ C